The Enneagram
Enneagram แปลว่า นพลักษณ์ มาจาก คำว่า “นพ” หมายถึง เก้า ส่วนคำว่า “ลักษณ์” หมายถึง ลักษณะหรือประเภท นพลักษณ์เป็นศาสตร์ทางจิตวิทยาที่อธิบายลักษณะโลกภายในจิตใจของบุคคลโดยแบ่งออกเป็น 9 ประเภท นพลักษณ์เป็นศาสตร์ที่ใช้ศึกษาเข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่นในระดับลึกซึ้งทางจิตใจ เพื่อจะได้รักและยอมรับตนเองและคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพื่อจัดประเภทบุคลิกภาพตามตัวเลขและแยกตนเองออกจากคนอื่นนพลักษณ์เป็นจิตวิทยาสมัยใหม่ที่มีรากมาจากภูมิปัญญาโบราณเริ่มจากอาจารย์จอร์จ ไอ เกิร์ดจิฟฟ์ (George I. Gurdjieff) ที่เริ่มเผยแพร่ในประเทศรัสเซียและเข้าสู่ยุโรปในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเป็นคุรุทางจิตวิญญาณสำคัญของโลกที่ได้ใช้ศาสตร์นพลักษณ์เป็นหนทางสู่การตื่นรู้ทางจิตวิญญาณในปัจจุบันขณะ (Presence) ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นพลักษณ์จึงมิใช่เพียงรู้ว่า ฉันเป็นลักษณ์อะไร แต่เป็นไปเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเองออกจากกรอบข้อจำกัดของลักษณ์ โดยที่แต่ละลักษณ์มีกระบวนการพัฒนาตนเองเพื่อการเติบโตและบรรลุศักยภาพที่แท้ภายใน
นพลักษณ์อธิบายว่ามนุษย์มีแรงผลักภายในจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ศูนย์ท้อง ศูนย์ใจ และศูนย์หัว คนในแต่ละลักษณ์จะถูกขับเคลื่อนชีวิตด้วยศูนย์ใดศูนย์หนึ่งเป็นหลัก ศูนย์ที่เหลือทำหน้าที่สนับสนุนหรืออาจถูกหลงลืม ในเบื้องต้นจึงแยกแยะคนตามศูนย์หลักได้เป็นสามกลุ่มดังนี้
คนศูนย์ใจ ใช้พลังของความรู้สึกขับเคลื่อนชีวิต ได้แก่ ลักษณ์ 2, 3 และ 4 คนศูนย์ใจทั้ง 3 ลักษณ์นี้มีแนวโน้มที่จะรับรู้ตนเองและโลกผ่านช่องทางอารมณ์ เชื่อมโยงสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น คนศูนย์ใจจะรู้สึกผูกพันกับคน ด้วยเหตุนี้ความต้องการการยอมรับจากคนอื่นการถวิลหาความรักความใส่ใจ และการเติมเต็มทางอารมณ์ จึงเป็นลักษณะหลักของคนศูนย์นี้
คนศูนย์หัว ใช้พลังของความคิดขับเคลื่อนชีวิต ได้แก่ ลักษณ์ 5, 6 และ 7 คนศูนย์หัวทั้ง 3 ลักษณ์นี้มีแนวโน้มที่จะรับรู้ตนเองและโลกผ่านช่องทางการคิดนึก ใช้หัวเป็นตัวกลั่นกรอง คิดนำความรู้สึกและการกระทำ คนศูนย์หัวจะใช้การคิดจัดการกับความกลัวที่มีต่อโลกและคนอื่นที่อาจจะคุกคามตนเอง ด้วยเหตุนี้การวางแผน เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ จึงเป็นลักษณะหลักของคนศูนย์นี้
คนศูนย์ท้อง ใช้พลังของสัญชาตญาณขับเคลื่อนชีวิต ได้แก่ ลักษณ์ 8,9 และ1 คนศูนย์ท้องทั้ง 3 ลักษณ์นี้มีแนวโน้มรับรู้ตนเองและโลกผ่านช่องทางการเคลื่อนไหวร่างกาย ลงมือทำ และเข้าไปมีส่วนร่วม คนศูนย์ท้องจะเข้าไปสร้างผลสะเทือนกับผู้คนและโลกตามภารกิจที่ตนมี ด้วยเหตุนี้การใช้ความรู้สึกตามสัญชาตญาณ การเข้าควบคุม และการใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือ จึงเป็นลักษณะหลักของคนศูนย์นี้
คุณลักษณะสำคัญของคนทั้ง 9 ลักษณ์
- ลักษณ์ 1: นักปฏิรูป (The Reformer) โลกทัศน์: โลกนี้ไม่สมบูรณ์แบบ มีข้อผิดพลาดให้ต้องแก้ไข กิเลสในใจ: โกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ (Anger) นิสัยความคิด: มีแต่สิ่งที่ยังไม่ได้มาตราฐาน ยังดีไม่พอ เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น: เมื่อเริ่มหงุดหงิดว่าอะไรๆก็หน้าที่ฉัน ทำไมฉันต้องเป็นคนแก้ไขทุกที ศักยภาพทางใจ: ความสงบร่มเย็น ศักยภาพทางความคิด: ทุกสิ่งล้วนสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว
- ลักษณ์ 2 : ผู้ช่วยเหลือ(The Helper) โลกทัศน์: โลกนี้จะได้ความรักเมื่อเป็นผู้ให้ กิเลสในใจ:ไม่อยากตกเป็นฝ่ายรับหรือร้องขอ (Pride) นิสัยความคิด: ต้องประจบเอาใจคนอื่น ให้เขาคิดถึงและขาดฉันไม่ได้ เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น:เมื่อเริ่มเอาใจไปพิงกับคนอื่น หาว่าจะทำหรือ พูดอะไรที่เขาชอบ ลืมดูแลใจตัวเอง ศักยภาพทางใจ:ความนอบน้อม ศักยภาพทางความคิด:อิสระมีพร้อมในใจอยู่แล้ว
- ลักษณ์ 3 : ผู้ใฝ่สำเร็จ (The Achiever) โลกทัศน์:โลกนี้จะยอมรับเรา เมื่อเราลงมือทำและทำจนสำเร็จ กิเลสในใจ: อยากให้คนเห็นแต่ด้านสำเร็จ ดูดี ดูเก่ง ดูมีค่า (Vanity) นิสัยความคิด: ต้องทำให้ตัวเองดูดีเข้าไว้ อย่าให้ภาพลักษณ์เสีย เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น:เมื่อเริ่มเปรียบเทียบตัวเอง กับคนอื่นว่าฉันต้อง สำเร็จ พุ่งไปทำ ทำ ทำ (ตัดความรู้สึก) ศักยภาพทางใจ:ความจริงแท้กับตนเอง ศักยภาพทางความคิด:ความหวังยังมีอยู่เสมอ
- ลักษณ์ 4 : ปัจเจกชน (The Individualist) โลกทัศน์: โลกนี้มีบางสิ่งขาดหายไป ไม่เข้าใจตัวเรา กิเลสในใจ: อยากสุขสมบูรณ์อย่างคนอื่นบ้าง (Envy) นิสัยความคิด: ใช้จินตนาการฝันเฟื่อง ส่วนฉันมีแต่เรื่องน่าโศกเศร้า เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น: เมื่อเริ่มใช้จินตนาการถึงคน เหตุการณ์ เพื่อ เร้าความรู้สึก และดำดิ่งกับความรู้สึก (โดยเฉพาะอารมณ์โศกเศร้า) ศักยภาพทางใจ: ความมีจิตเป็นกลาง ศักยภาพทางความคิด:สรรพสิ่งล้วนมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน
- ลักษณ์ 5 : นักสำรวจสืบค้น (The Investigator) โลกทัศน์: โลกนี้เรียกร้องมาก กิเลสในใจ: อยากได้ข้อมูล ความรู้ และทรัพยากรเพิ่มอีก (Avarice) นิสัยความคิด: ต้องตระหนี่ถี่เหนี่ยว หาทางเก็บและใช้ทรัพยากรให้น้อย เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น: เมื่อเริ่มถอนตัวจากความสัมพันธ์-ความจริง เข้าไปอยู่ในความนึกคิดและอธิบายสิ่งต่างๆ ศักยภาพทางใจ: ความไม่ยึดติด ศักยภาพทางความคิด: ความรอบรู้อยู่ที่การเข้าถึง
- ลักษณ์ 6 : ผู้จงรักภักดี (The Loyalist) โลกทัศน์: โลกนี้อันตราย ไม่น่าไว้วางใจ แสวงหาความมั่นคงและ ปลอดภัย กิเลสในใจ: อยากให้แน่ใจว่าฉันปลอดภัยไร้สิ่งอันตราย (Fear) นิสัยความคิด: ต้องคิดเผื่อไว้ว่ายังมีอะไรที่น่ากลัวที่สุดอยู่อีก เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น: เมื่อเริ่มกังวลไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป แล้วเริ่ม คิดมากกับสิ่งต่างๆ ศักยภาพทางใจ: ความกล้าหาญ ศักยภาพทางความคิด: ดำรงศรัทธาไว้ว่าจะเผชิญได้
- ลักษณ์ 7 : ผู้กระตือรือร้น (The Enthusiast)โลกทัศน์: โลกนี้จำกัดเรา กิเลสในใจ: อยากเสพสุข/ประสบการณ์ใหม่ๆ (Gluttony) นิสัยความคิด: คิดแผนการให้ตัวเองมีทางเลือกที่สบายที่สุด เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น:เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่ดีกว่า ถ้าฉันได้มี ประสบการณ์อีกอย่าง จะยอดเยี่ยมไปเลย ศักยภาพทางใจ:ความยับยั้งชั่งใจ ศักยภาพทางความคิด:ชีวิตคือการทำงานบันดาลสุข
- ลักษณ์ 8 : ผู้ท้าทาย (The Challenger) โลกทัศน์: โลกนี้ไม่ยุติธรรม คนอ่อนแอมักถูกรังแกและเอาเปรียบ คนเข้มแข็งจึงจะอยู่รอด กิเลสในใจ: เสพติดกับการใช้พลังล้นเกินจำเป็น (Lust) นิสัยความคิด:คาดคั้นความจริง แก้แค้นเอาคืน เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น:เมื่อเริ่มใช้พลังมากเกินจำเป็น และต้องจัดการ ควบคุมให้ได้มากกว่านี้ ศักยภาพทางใจ:ความบริสุทธ์อ่อนโยน ศักยภาพทางความคิด:สัจธรรมดำรงอยู่เสมอ
- ลักษณ์ 9 :ผู้สร้างสันติภาพ (The Peacemaker) โลกทัศน์:โลกมองข้ามเรา กิเลสในใจ:อยากถอนตัว เฉื่อย มึนชา (Sloth) นิสัยความคิด: ต้องชะลอไว้ก่อน ยังไม่ลงมือทำอะไร เสียงปลุกให้ตื่นขึ้น: เมื่อเริ่มไหลไปตามสิ่งต่างๆ ไม่กล้าปฏิเสธ เอาตัวเองมาทีหลัง ศักยภาพทางใจ: ความรักความผูกพัน ศักยภาพทางความคิด:ทุกคนมีความรักความกรุณาเป็นรากฐาน
ทำความเข้าใจศาสตร์นพลักษณ์สองสาย: สายจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Enneagram Typology) กับสายกระบวนการพัฒนามนุษย์ (Enneagram Process)
Enneagram as a Personality Typology: “นพลักษณ์” ในสายจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Enneagram Typology) จะมีการแบ่งประเภทบุคลิกภาพของคนเป็น 9 ลักษณ์ (นพลักษณ์) เป็นการหลอมรวมศาสตร์โบราณเข้าสู่จิตวิทยาสมัยใหม่โดยอาจารย์ออสกา อิคาโซ (Oscar Ichazo)ผู้ก่อตั้งสำนักเอริก้า (Arica School) ในช่วง 60’s-70’s ที่ประเทศชิลิ เพื่อศึกษาศาสตร์ลี้ลับโบราณเพื่อนำมาพัฒนามนุษย์ในยุคสมัยใหม่ โดยมีวิชานพลักษณ์เป็นแกนหลักของหลักสูตร และมีการอธิบายถึง 9 จุดติดขัดของอีโก้ (Ego Fixations) ที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาเข้าสู่แก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ (Essence) เป็นครั้งแรก และในช่วงนั้นเองที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกาชื่อ คลาวดิโอ นารันโจ (Claudio Naranjo) ได้เดินทางไปศึกษากับ อาจารย์อิคาโซและนำกลับมาเผยแพร่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนนพลักษณ์เข้าสู่โลกสมัยใหม่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน นำโดยอาจารย์สำคัญในวงการนพลักษณ์ได้แก่ เฮเลน พาล์มเมอร์ (Helen Palmer) ดอน ริโซ (Don Riso) เอ เอช อัลมาส (A. H. Almaas) เป็นต้น และแม้ว่าอาจารย์ดอน ริโซได้เสียชีวิตไปแล้ว และงานของท่านก็ยังได้รับการสืบสานและพัฒนาต่อโดยอาจารย์รัส ฮัดสัน (Russ Hudson) ผู้ร่วมก่อตั้ง The Enneagram Institute กับอาจารย์ริโซ ดังนั้นอาจารย์นพลักษณ์สามท่านที่ยังคงเป็นหลักในชุมชนนพลักษณ์ของโลกคือ อาจารย์เฮเลน พาล์มเมอร์ อาจารย์เอ เอช อัลมาส และอาจารย์รัส ฮัดสัน
Enneagram as a Human Transformation Process: “นพลักษณ์” ในสายกระบวนการพัฒนามนุษย์ (Enneagram Process) จะมีการฝึกฝนและเกิดประสบการณ์ตื่นรู้ในปัจจุบัน (Presence) ผ่านกระบวนการพัฒนาและปลดล๊อคศักยภาพภายในตนเอง โดยใช้สัญลักษณ์นพลักษณ์เป็นแผนที่การเดินทางกลับสู่บ้านที่แท้ภายในหรือ “Essence” มีรากมาจากภูมิปัญญาโบราณที่สามารถย้อนรอยกลับไปได้ถึงพีทากอรัส (Pythagoras) และได้รับการค้นพบอีกครั้งในโลกยุคสมัยใหม่โดยอาจารย์จอร์จ เกิร์ดจิฟฟ์ (George Gurdjieff) หลังจากที่ท่านออกเดินทางร่วมกับสหายในกลุ่ม “ผู้ค้นหาสัจธรรม” (Seekers of Truth) ไปทั่วเอเชียกลาง อิยิปต์ อิหร่าน อินเดีย ทิเบต และโรมเพื่อศึกษาศาสนาต่างๆของโลก เช่น ซูฟี (Sufi) คับบาลาห์ (Kabbalah) คริสต์ (Chirst) และพุทธศาสนา (Buddhism) เป็นต้น ท่านก่อตั้งแนวการพัฒนาจิตวิญญาณหมุนกงล้อครั้งที่สี่ (The Fourth Way) และเผยแพร่แก่ลูกศิษย์ในประเทศรัสเซีย ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นการหลอมรวมการหมุนกงล้อทางจิตวิญญาณ 3 ครั้งก่อนของมนุษยชาติคือ ครั้งที่ 1 หนทางของการฝึกกาย (บรรลุจากการอยู่เหนืออำนาจของร่างกาย) ครั้งที่ 2 หนทางของการฝึกใจ (บรรลุจากศรัทธาและการศิโรราบของใจ) และครั้งที่ 3 หนทางของการฝึกปัญญา (บรรลุจากสมาธิภาวนาและปัญญาญาน) นพลักษณ์คือหนทางของการหมุนกงล้อครั้งที่สี่ ที่ี่หลอมรวมการฝึกกาย (ศูนย์กาย) ฝึกใจ (ศูนย์ใจ) และฝึกปัญญา (ศูนย์หัว) เข้าด้วยกัน เพื่อเข้าสู่ความสอดคล้องสมดุลของทั้งสามศูนย์ และดำเนินไปตามกระบวนการธรรมชาติของการพัฒนามนุษย์ (Human Transformation) ตามกฎของความเป็นหนึ่ง (Law of Unity) กฎของสาม (Law of Three) และกฎของเจ็ด (Law of Seven) และมีการเข้ารหัสเป็นสัญลักษณ์นพลักษณ์
- Law of Unity : ศาสตร์อิยิปต์โบราณมองว่า 1 หมายถึงความสมบูรณ์ของสรรพสิ่ง สรรพสิ่งในโลกและจักรวาลจะหลอมรวมกลับคืนเป็นหนึ่ง
- Law of Three : โลกและจักรวาลนี้ถือกำเนิดจากหนึ่งสู่สรรพสิ่งได้เพราะเกิดการแบ่งขั้ว ตัวอย่างเช่น ขั้วสว่างกับมืด โดยมีการรู้เป็นผู้ประจักษ์แจ้ง (สว่าง-มืด-การรู้: Law of Three)
- Law of Seven : เมื่อสรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็ล้วนต้องพบกับการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และพัฒนา เปรียบเสมือนตัวโน้ตเจ็ดตัวของดนตรีที่เริ่ม เคลื่อนจาก “โด” แล้วต่อไปที่ “เร-มี” เปลี่ยนแปลงที่ “ฟา-โซ-ลา-ที” แล้วก็พัฒนาขึ้นสู่รอบใหม่ของ “โด” ที่สูงขึ้นอีกระดับเสียง (Octave) การพัฒนาของมนุษย์ก็เป็นไปตามกฎนี้ มีส่วนที่มนุษย์ต้องเริ่มลงมือทำ (ต้อนรับการเปลี่ยนแปลง) มีส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลง (สร้างการเปลี่ยนแปลง) และมีส่วนที่ต้องพัฒนาขึ้นอีกระดับ (พัฒนายกระดับจิตสำนึก) เพื่อให้มนุษย์ได้กลับคืนสู่ความเป็นหนึ่งอีกครั้ง
ทีมปลูกรักศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเป็นหลักสูตรนพลักษณ์ที่รวมจุดเด่นของนพลักษณ์ทั้งสองสายเข้าด้วยกัน เพื่อเข้าใจตนเองในทางจิตวิทยาบุคลิกภาพ และมีกระบวนการพัฒนาที่ปลดล็อคศักยภาพภายในของความเป็นมนุษย์ โดยเริ่มจากหลักสูตรขั้นต้น “Enneagram Tranformation in Sand Tray” และหลักสูตรอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต