EMDR THERAPY พัฒนาขึ้น โดย ดร.ฟรานซิส ชาปิโร (Dr. Frances Shapiro) ในช่วงปลายปี 1980 เธอค้นพบว่าการเคลื่อนไหวตาของคน ช่วยบรรเทาความทุกข์ ลดความเจ็บปวดในใจคน เธอสามารถใช้หลักการนี้ช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญด้วยทำงานกับความทรงจำในอดีต ขจัดด้านแย่ๆออกไป EMDR เป็นการบำบัดจิตใจ ทำงานกับความทรงจำในอดีตที่เจ็บปวด ซึ่งถูกเก็บแช่แข็ง (Frozen) ไว้โดยสมองไม่เกิดการประมวลผลข้อมูลในการแยกแยะว่าประสบการณ์เหล่านั้นเป็นอดีตที่จบไปแล้ว เมื่อมีตัวกระตุ้นในปัจจุบัน ประสบการณ์เก่านั้นจะกลับมาตอกย้ำ (Reexperience) และรบกวนการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ที่สำแดงอาการทุกข์ใจออกมาในรูปแบบของความเครียด ความกลัว/กังวล ความเศร้า ความโกรธและอื่นๆ
นักจิตบำบัดแนว EMDR จะทำงานกับความทรงจำในอดีตที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ตั้งต้นที่นำไปสู่อาการทุกข์ใจต่างๆ โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า “Dual Attention” คือผู้รับบริการจะเข้าไปรับรู้ประสบการณ์ในอดีต (One Foot in Past) สลับกับการรับรู้ประสบการณ์ในปัจจุบัน (One Foot in Present) จนกระทั้งสมองเกิดการประมวลผลข้อมูลใหม่ ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับความคิด อารมณ์และการรับรู้ทางกายที่ไม่เหมาะสมถูกยกออกไป แล้วแปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจและการเรียนรู้ใหม่แทนที่ความทรงจำนั้น ซึ่งทำให้ประสบการณ์เดิมไม่กลับมาสร้างความรบกวนและทุกข์ใจอีกต่อไป ช่วยให้ผู้รับบริการมีมุมมอง ความคิดอารมณ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกลมกลืนในการดำเนินชีวิตอีกครั้ง
EMDR Therapy ทำอย่างไร
EMDR ใช้หลักการเคลื่อนไหวตาทั้งสองข้างย้ายกลับไปมา 7-8 ครั้ง ต่อ 1 ชุด ประมาณ 30 วินาที่ ซึ่งทำหลายชุดในชั่วโมงการบำบัด วิธีการนี้ไม่ใช่การสะกดจิต ผู้รับบริการมีสติรู้ตัวตลอดการบำบัด โดยนักจิตบำบัดจะขอให้ผู้รับบริการเคลื่อนไหวตาตามนิ้วของนักจิตบำบัดที่เคลื่อนย้ายไปมา หลักการนี้เป็นการทำงานกับสมอง 2 ซีกคือสมองซีกซ้าย ทำให้มีสติรู้ตัว สมองซีกขวาทำให้เชื่อมโยงกับอารมณ์ ความทรงจำในอดีต ซึ่งการเคลื่อนไหวดวงตาซ้ำๆเป็นการทำงานกับสมองส่วนความทรงจำที่แช่แข็งไว้ให้เกิดการประมวลผลข้อมูลใหม่ในทิศทางบวก
ขั้นตอนจิตบำบัดแนว EMDR ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน
1. การวางแผนและเก็บประวัติของผู้รับบริการ
(History and Treatment Plan)
ผู้รับบริการจะพบนักจิตบำบัด EMDR เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับอดีตที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่มาพบ โดยใช้คำถามเพื่อสืบค้นจุดตั้งต้นของปัญหา เหตุการณ์หรือความทรงจำที่รบกวน ซึ่งผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับาดแผลทางจิตใจข้อมูลต่างๆ จะนำมาทำการวินิจฉัยเพื่อนำไปสู่การวางแผนการบำบัดต่อไป
ผู้รับบริการจะพบนักจิตบำบัด EMDR เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับอดีตที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่มาพบ โดยใช้คำถามเพื่อสืบค้นจุดตั้งต้นของปัญหา เหตุการณ์หรือความทรงจำที่รบกวน ซึ่งผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับาดแผลทางจิตใจข้อมูลต่างๆ จะนำมาทำการวินิจฉัยเพื่อนำไปสู่การวางแผนการบำบัดต่อไป
2. การเตรียมตัวสร้างความมั่นคงทางจิตใจ
(Preparation)
ในช่วงเริ่มต้นผู้รับบริการจะได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางใจ เพื่อมีหนทางจัดการกับความรู้สึกยากๆได้ด้วยตัวเอง หากเกิดขึ้นในชั่วโมงบำบัดและในชีวิตประจำวัน เช่น เทคนิคการผ่อนคลาย เทคนิคการมีสติรู้ตัว เทคนิคเสริมแรงบวกและสร้างคุณค่าในตนเอง เทคนิคเหล่านี้จะนำมาใช้ในช่วงเวลาที่ทำงานกับความทรงจำในอดีตที่เจ็บปวด
3. การประเมิน
(Assessment)
ช่วงนี้ผู้รับบริการจะระบุเหตุการณ์ หรือความทรงจำในอดีตมาทำงาน โดยจะสำรวจไปที่ความเชื่อด้านลบเกี่ยวกับตนเองอารมณ์ความรู้สึก และการรับรู้ทางกายที่รบกวน เมื่อผู้รับบริการนึกถึงเหตุการณ์นั้น พร้อมกับค้นหาความเชื่อด้านบวกเกี่ยวกับตนเอง
4. การลดความไวในความรู้สึก
(Desensitization)
ช่วงนี้นักจิตบำบัด EMDR จะเริ่มทำการเคลื่อนไหวตาเป็นชุดๆ และจะขอผู้รับบริการนึกถึงเหตุการณ์หรือความทรงจำตั้งต้นขณะที่เคลื่อนไหวดวงตา ช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวตานั้นจะช่วยปลดปล่อยความทรงจำในอดีตและคลี่คลายไปในทางบวก
5. การติดตั้ง
(Installation)
ช่วงนี้ผู้รับบริการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในทางบวก นักจิตบำบัดจะให้ผู้รับบริการทบทวนความเชื่อด้านบวกในตนเอง และเคลื่อนไหวตาอย่างช้าๆ เพื่อให้สมองประมวลผลข้อมูลใหม่
6. การสแกนร่างกาย
(Body Scan)
นักจิตบำบัดจะขอให้ผู้รับบริการนึกถึงเหตุการณ์ตั้งต้นพร้อมกับสำรวจความรู้สึกทั่วร่างกายสังเกตถึงความผ่อนคลาย
7. การจบการบำบัด
(Closure)
ช่วงนี้ผู้รับบริการจะรู้สึกดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ และออกจากห้องไปด้วยความรู้สึกบวกกับตนเอง นักจิตบำบัดจะขอให้ผู้รับบริการบันทึกความคิด ความรู้สึก หรือความฝันในระหว่างสัปดาห์ก่อนที่จะมาพบกันอีกครั้ง
8. การประเมินซ้ำ
(Reevaluation)
หลังจากจบชั่วโมงการบำบัดในครั้งที่ผ่านมาช่วงนี้เป็นการตรววจสอบความทรงจำอดีตว่ายังมีอิทธิพลกับผู้รับบริการหรือไม่ขั้นตอนนี้จะช่วยให้นักจิตบำบัดทำการประเมินเพื่อปรับแผนวิธีการบำบัดต่อไป หากผู้รับบริการเห็นว่าปัญหาที่นำได้คลี่คลายแล้วสามารถจบบริการได้