นิสัยรักการเปลี่ยนของจิต: เห็นทั้งระบบ
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มกราคม 2556
ทุกๆ ปีใหม่ ผู้คนมักจะตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยมีแนวโน้มมุ่งเน้นไปในเรื่องการแก้ปัญหานิสัยเสียๆ ของตัวเอง เช่น นิสัยการกิน นิสัยการดื่ม นิสัยการเที่ยว นิสัยการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต่างรู้ดีหลังจากลงมือเปลี่ยนแปลงคือ นิสัยเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก หลายคนอาจเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการวาดฝันไว้อย่างสวยหรู แต่แล้วก็พบว่าตัวเองแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
นักประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscientists) อธิบายว่า นิสัยคือ รอยเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่แข็งแรง เมื่อเราเข้าใจนิสัยในแง่ของสมองด้วย เราจะพบข้อเท็จจริงประการหนึ่งของสมองคือ มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำลายรอยเชื่อมเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นไปได้ง่ายกว่าคือ การสร้างรอยเชื่อมต่อใหม่ในสมอง [Quiet Leadership (2009) by David Rock] กล่าวคือ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพยายามเลิกนิสัยเสียๆ แต่มันง่ายกว่ามากที่จะสร้างนิสัยใหม่ให้เป็นทางออกกับการเริ่มต้นปีใหม่ ความเข้าใจนี้ดูจะมีความหวังมากกว่า
นิสัยรักการเปลี่ยนของจิต (transformational habits of mind) เป็นนิสัยกลุ่มหนึ่งที่มนุษย์สามารถสร้างรอยเชื่อมต่อที่ต่างไปจากเดิมได้ ดร.เจนนิเฟอร์ การ์วี เบอร์เกอร์ (Jennifer Garvey Berger) ศิษย์เอกของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน (Robert Kegan) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Changing On the Job <>(2012) ว่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องปลูกนิสัยรักการเปลี่ยนของจิตสามประการ ได้แก่ นิสัยถามต่าง นิสัยมองหลายมุม และนิสัยเห็นทั้งระบบ ด้วยเนื้อที่จำกัดสำหรับบทความนี้ ผมจะขอเลือกอธิบายลงลึกเฉพาะเรื่องของนิสัยเห็นทั้งระบบ เพื่อนำเสนอแนวทางหนึ่งในการทำตามความตั้งใจเปลี่ยนของตัวเองได้อย่างมั่นคง
การเห็นทั้งระบบคืออะไร คำตอบอย่างกระชับสั้นคือ “การมองเห็นแบบแผนของสิ่งต่างๆ ” หรือ “การมองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ ” ซึ่งสามารถอธิบายขยายความเพิ่มเติมได้ว่า “แบบแผน” และ “ภาพรวม” นี้ ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติในฐานะสสารหรือพลังงาน แต่เป็นการสร้างขึ้นเองของจิตมนุษย์ เพื่อเอาไว้ใช้ในการอธิบาย วิเคราะห์ และให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ ในโลกและจักรวาลนี้ และเมื่อคนสามารถ “เห็นทั้งระบบ” ได้ซับซ้อนมากขึ้น หมายความว่า คนนั้นๆ สามารถเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปของโลกและจักรวาลนี้ได้มากขึ้น
ยกตัวอย่างการเห็นทั้งระบบ จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานช่วยให้คนเปลี่ยนแปลงตนเองมาตลอดสามปี ผ่านกระบวนการเอกซ์เรย์จิตตามแนวทางของศาสตราจารย์คีแกน ที่เผยให้เห็นถึง “ระบบจัดการความกังวล” (anxiety management)อันเป็นการทำงานอัตโนมัติของจิต มันคือแบบแผนการทำงานของจิตใจเฉพาะตัวของแต่ละคน ที่ทำหน้าที่ปกป้องความกลัวและจัดการความกังวล ให้อยู่ในระดับที่คนคนนั้นสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ในแต่ละวัน เมื่อระบบนี้ทำงานได้ดี ในแต่ละวันเราจะแทบไม่รับรู้ถึง “ความกังวลนอนเนื่อง” ที่มีอยู่ตลอดเวลา เช่น กังวลว่าจะไม่ทันสมัยกับคนอื่นเขา ก็เลยเข้าไปอัพเดตเฟซบุ๊คทุกๆ ห้านาที เป็นต้น เมื่อได้อัพเดตแล้ว ความกังวลนั้นก็จะหายไป แต่จริงๆ มันแค่หายไปจากการรับรู้ของจิตสำนึกเท่านั้น แล้วเข้าไปนอนเนื่องอยู่ในจิตไร้สำนึกต่อไป พร้อมที่จะโผล่ออกมาเมื่อมีสิ่งกระตุ้นเร้าใหม่ ดังนั้นจิตมนุษย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาเพื่อจัดการกับความกังวลนอนเนื่อง ทั้งหมดเป็นกระบวนการอัตโนมัติของจิต ไม่ต้องจงใจสร้างขึ้น ระบบนี้ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเองอยู่แล้ว
การปลูกนิสัย “เห็นทั้งระบบ” เริ่มจากการเห็นถึงแบบแผนอันเป็นปกติวิสัยของจิตมนุษย์ที่มักเลือกข้าง เช่น เลือกความสุข ปฏิเสธความทุกข์ เลือกความดี ปฏิเสธความชั่ว เลือกความเร็ว ปฏิเสธความช้า เป็นต้น ถ้าแทนขั้วตรงข้ามด้วยสีขาว-ดำ จะอธิบายได้ว่า จิตเลือก “ขาว” และปฏิเสธ “ดำ” สมมุติว่าคนคนหนึ่งมีจิตเลือกข้าง “ขาว” เขาจะมีความกังวลนอนเนื่องว่า“ดำ” จะออกมาเมื่อไร และเมื่อ “ดำ” ออกมา ระบบนี้จะทำงานทันทีเพื่อจัดการกับ “ดำ” ให้หายไปจากการรับรู้ จนเกิดเป็นนิสัยเสียๆ บางอย่าง และถ้าปีใหม่ปีนี้เขาเริ่มคิดได้ ก็จะมีแนวโน้มที่จะจัดการกับนิสัยเสียๆ แต่แก้ไปได้ไม่นาน ก็จะกลับไปมีนิสัยเสียๆ เหมือนเดิม เพราะแท้จริงแล้วระบบจัดการความกังวลยังคงทำงานอยู่ตามปกติ
แต่เมื่อคนๆ นี้เริ่ม “เห็นทั้งระบบ” เป็นครั้งแรก เขาจะเริ่มเห็นภาพรวมว่า ที่ผ่านมาเขาทึกทักไปว่าโลกที่ควรจะเป็น คือมีแต่“ขาว” จริงๆ แล้วมีโลกที่กว้างกว่าคือ โลกนี้มีทั้งขาวและดำ
เมื่อเขาเริ่มมีสติเท่าทันการทำงานอัตโนมัติของ “ระบบจัดการความกังวล” ได้อยู่เรื่อยๆ เขาจะเริ่มเห็นโลกที่มีทั้งขาวและดำบ่อยขึ้น จนเริ่มเห็นว่าโลกนี้มี “สีเทา” อยู่ระหว่างกลางระหว่าง “ขาว” กับ “ดำ” จิตไม่คิดนึกทึกทักแบบสุดโต่งขั้วใดขั้วหนึ่ง เริ่มเปิดพื้นที่สีเทาให้กับความเข้าใจโลกและชีวิต
เมื่อเริ่มมีสติยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ช่วยให้เขาสามารถถอยออกมา “เห็นทั้งระบบ” จนเป็นนิสัย ก็จะเริ่มเห็นว่ามี “เทาขาว” กับ “เทาดำ” อยู่ขั้นกลางแตกย่อยลงไปอีก เขาจะเริ่มเห็นว่าใน “เทาขาว” ก็มีดำ และใน “เทาดำ” ก็มีขาวอยู่ ดังนั้น “ความเป็นดำ”กับ “ความเป็นขาว” จึงเป็น “ขั้วธรรมชาติ” ที่จำเป็นต้องดำรงอยู่ร่วมกัน เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้เติบโต เมื่อเราเริ่มเข้าใจ“ความเป็นขาว” “ความเป็นดำ” มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะ “บริหารจัดการขั้วตรงข้าม” (polarity management) ระหว่างความเป็นขาว-ความเป็นดำอย่างไรให้ลงตัวกับสถานการณ์หนึ่งๆ (ไม่ใช่สลายความเป็นขั้วไปเสียจนหมด) บางสถานการณ์ต้องการเทาขาวมาก หรือเทาขาวน้อย หรือบางสถานการณ์ต้องการเทาดำมาก หรือเทาดำน้อย
เมื่อหมั่นปลูกนิสัยเห็นทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นการสร้างรอยเชื่อมต่อใหม่ของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ “บริหารจัดการขั้วตรงข้าม” เพิ่มเติมขึ้นมาจาก “ระบบจัดการความกังวล” ซึ่งเป็นรอยเชื่อมต่อเก่าของเซลล์ประสาท เมื่อรอยเชื่อมต่อทั้งเก่าและใหม่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ความเข้าใจโลกและชีวิตจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง สามารถเห็นว่าจากขาวไปสู่ดำเป็นความต่อเนื่องของเฉดสีเทาจากขาวสุดไปจนถึงดำสุด ไร้รอยต่อ และเกิดความเข้าใจว่าไม่ว่าจะเป็นจุดไหนก็เกิดจากการร่วมกันสร้างขึ้นของความเป็นขาวความเป็นดำ มากไปกว่านั้น ความเป็นขาวก็สร้างความเป็นดำ ความเป็นดำก็สร้างความเป็นขาว ทั้งสองขั้วต่างพึ่งพิงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
ตัวอย่างการบริหารจัดการขั้วตรงข้ามข้างต้นนี้ เป็นหนึ่งในแนวทาง “การเห็นทั้งระบบ” ที่ผมใช้ในการทำงานกับตนเองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับคน องค์กร และสังคม เมื่อคุณภาพการเห็นทั้งระบบมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น หมายถึงความเป็นไปได้ที่เราจะมีทางออกให้กับการเปลี่ยนแปลงตนเอง ยิ่งมีเฉดสีเทาเพิ่มมากเท่าไร ก็เท่ากับเพิ่มทางออกมากเท่านั้น ความสำเร็จที่ปรารถนาที่วาดฝันไว้ ย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม เริ่มต้นจากเราทำหน้าที่เพียงสร้างรอยเชื่อมต่อใหม่ของเซลล์ประสาท ผ่านนิสัยรักการเปลี่ยนของจิต ที่เรียกว่า “เห็นทั้งระบบ”
สุดท้ายนี้ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยพรให้ผู้อ่านทุกท่าน ประสบผลสำเร็จได้ดังมุ่งหวังตั้งใจ มีแนวทางเติบโตที่เหมาะสมกับตนเองทุกท่านเทอญ